โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
(แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ภาพพระสุริโยทัยขาดคอช้าง)
๑. สาระสำคัญ
บุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระ
สุริโยทัยอัครมเหสีปลอมพระองค์เป็นอุปราชตามเสด็จออกทำสงครามด้วย เมื่อเห็นว่าพระราสวามีจะเพลี่ยงพล้ำในการทำยุทธหัตถีก็ไสช้างเข้าขวางจึงถูกพระแสงของ้าวของศัตรูสิ้นพระชนม์
๒. ผู้พระราชนิพนธ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชประวัติสมเด็จพระสุริโยทัยทรงทำยุทธหัตถี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งชาวไทยถวายพระราชสมัญญาว่า สมเด็จพระปิยมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๕ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ พระนามเดิมสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชชนนี เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พ.ศ. ๒๔๑๑ สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓นอกจากจะทรงพระปรีชาสามารถในด้านการปกครองแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการประพันธ์อีกด้วย พระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วร้องกรองอาทิ พระราชพิธีสิบสองเดือน ไกลบ้าน เงาะป่า ลิลิตนิทราชาคริต โคลงสุภาษิตต่าง ๆ และยังมีบทพระราชนิพนธ์อีกเป็นจำนวนมากที่เป็นประโยชน์ต่อการปกครองและวิชาการด้านต่าง ๆ
๓. จุดประสงค์พระราชนิพนธ์
๓.๑ เพื่อสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศอย่างใหญ่หลวง จนไปถึงเชิดชูเกียรติหมู่เสวกามาตย์ที่มีความกล้าหาญ สุจริตและความกตัญญูต่อแผ่นดิน
๓.๒ เพื่อให้เยาวชนเห็นคุณค่าของความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของวีรกษัตริย์ในอดีต
๔. ที่มาของเรื่อง
คัดมาจากหนังสือโคลงภาพระราชพงศาวดารเป็นโคลงบรรยายภาพที่ ๑๐ แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กล่าวถึงพระสุริโยทัยทรงประกอบวีรกรรมอันแสดงถึงพระคุณธรรมคือความกตัญญูและความเสียสละในการที่ได้ช่วยปกป้องพระมหาจักรพรรดิให้รอดพ้นจากอาวุธของข้าศึกด้วยการอุทิศชีวิตของพระองค์
๕. เวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นมีจำนวน ๙๒ ภาพ โคลงที่แต่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๓๗๖ บท สร้างสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐)
๖. ทำนองพระราชนิพนธ์
เป็นโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๖ บท
ตัวอย่าง นงคราญองค์เอกแก้ว กระษัตรีย์
มานมนัสกัตเวที ยิ่งล้ำ
เกรงพระราชสามี มลายพระ ชนม์เฮย
ขับคเชนทรเข่นค้ำ สะอึกสู้ดัสกร
๗. ศัพท์ที่ควรทราบ
โคลงภาพพระราชพงศาวดาร (แผ่นดินของพระมหาจักรพรรดิ
ภาพพระสุริโยทัยขาดคอช้าง)
โคลงบทที่ ๑
รามัญ = มอญ
พยุหแสนยา = หมู่เสนา
ม่าน = พม่า
โคลงบทที่ ๒
เผ้าภูวดล = เผ้า คือ ส่วนที่สูงที่สุดของศีรษะ ภูวดล คือ แผ่นดิน
เผ้าภูวดลหมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน
นิกร = หมู่ , พวก
สมร = การรบ การสงคราม
โคลงบทที่ ๓
เครื่องยุทธพิชัย = เครื่องแต่งกายที่แต่งออกรบ
เถลิง = ขึ้น ใช้กับสิ่งสำคัญ เช่น เถลิงถวัลยราช
สมบัติ
คว้าง = เคลื่อนลอยไปอย่างรวดเร็ว
ไคล = เข้าขบวน
โคลงบทที่ ๔
ประจัญ = ปะทะต่อสู้
สาร = ช้างใหญ่
เตลง = คือ ตะเลง เป็นชื่อที่ใช้เรียกชนชาติมอญ พงศาวดาร
ไทยมักเรียกกองทัพพม่าว่ากองทัพตะเลง เนื่องจากพม่า
เกณฑ์เอาพวกมอญผู้ตกอยู่ในปกครองมาเป็น
ไพร่พลในการรบเป็นจำนวนมาก
โคลงบทที่ ๕
มาน = มี
ดัสกร = ข้าศึก
มนัส = หัวใจ
โคลงบทที่ ๖
ขุนมอญ = ในที่นี้คือ พระเจ้าแปรซึ่งเป็นผู้ปกครองเมืองแปร ยกกองทัพมา
ช่วยพม่ารบ
หรุบ = อาการสิ่งของที่ร่วงลงมาพรู เรียกว่า ร่วงหรุบ
๘. เนื้อเรื่อง
พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระมหาจักรพรรดิทรงยกทัพออกตั้งรับข้าศึก โดยมีสมเด็จพระสุริโยทัยพระมเหสีซึ่งทรงแต่งองค์เช่นบุรุษ ได้ติดตามพระมหาจักรพรรดิออกรบด้วย เมื่อกองทัพของพระเจ้าแปรกับพระมหาจักรพรรดิปะทะกัน ช้างทรงของพระมหาจักรพรรดิเสียทีวิ่งหนีเตลิดไป พระเจ้าแปรจึงขับช้างติดตาม สมเด็จพระสุริโยทัยจึงได้ไสช้างทรงเข้าไปขวางพระเจ้าแปรเพราะเกรงว่าพระมหาจักรพรรดิจะได้รับอันตราย พระเจ้าแปรจึงใช้ง้าวฟันสมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระโอรสได้นำพระบรมศพเข้าเมืองถึงแม้นพระสุริโย-ทัยจะเสด็จสวรรคตไปแล้วแต่วีรกรรมที่ท่านได้ทรงปฏิบัตินั้นทรงได้รับการสรรเสริญพระเกียรติคุณยังปรากฏอยู่ตราบชั่วนิรันดร์
โคลงบทที่ ๑ ความว่า บุเรงนองกษัตริย์พม่ายกกองทัพอันมีแสนยานุภาพกล้าหาญยิ่ง ทั้งทัพมอญและทัพพม่ารวมแล้วว่าสามแสนคน เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วหยุดพักนอกเมือง
โคลงบทที่ ๒ ความว่า พระมหาจักรพรรดิกษัตริย์แห่งกรุงสยามทรงวางกำลังพลมากมายเตรียมรับศึก มีพระราชดำริจะเสด็จออกไปดูกำลังข้าศึกจึงทรงยกองทัพออกไปตั้งกลางสนามรบ
โคลงบทที่ ๓ ความว่า พระมเหสีผู้ทรงเป็นผู้พอพระราชหฤทัยของพระองค์ ทรงพระนามว่าพระสุริโยทัย ทรงเครื่องนักรบเหมือนพระมหาอุปราช ทรงช้างพระที่นั่งควบเข้ากระบวนทัพตามเสด็จด้วย
โคลงบทที่ ๔ ความว่า ทัพหน้ายกพลเข้าสู้รบกัน ช้างของพระเจ้าแปรเข้าต่อสู้กับช้างของพระมหาจักรพรรดิ
โคลงบทที่ ๕ ความว่า องค์อัครมเหสีมีน้ำพระทัยกอรปด้วยความกตัญญูกตเวทียิ่ง ทรงวิตกว่าพระสวามีจะสิ้นประชนม์จึงทรงขับช้างพระที่นั่งเข้าต่อสู้กับศัตรู
โคลงบทที่ ๖ ความว่า พระเจ้าแปรฟาดพระแสงของ้าวใส่พระอุระขาดสะพายแหล่ง
สิ้นพระชนม์พระราชโอรสจึงทรงกันพระศพกลับคืนกรุงศรีอยุธยา แม้นพระองค์จะสิ้นพระชนม์ลงแล้วแต่ยังไม่สิ้นผู้สรรเสริญ
๙. มโนทัศน์
ความกตัญญูกตเวทีและความเสียสละเป็นคุณธรรมของวีรชน
๑๐. ความรู้ที่ได้รับจากเรื่อง
๑๐.๑ เรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตและเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์จะจารึกไว้ในพงศาวดาร
๑๐.๒ เรื่องพระสุริโยทัยขาดคอช้างเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา
๑๐.๓ ผู้หญิงสามารถที่จะช่วยปกป้องเมืองได้เช่นเดียวกับผู้ชาย
๑๐.๔ สมเด็จพระสุริโยทัยทรงสละชีวิตเพื่อป้องกันพระมหาจักรพรรดิไว้ นับเป็นวีรสตรีที่ ควรแก่การสรรเสริญ
๑๑. ข้อคิดที่ได้รับจากเรื่อง
๑. ความรักทำให้คนมีความกล้าหาญและเสียสละ
๒. ที่ใดมีสงคราม ที่นั่นมีความสูญเสีย
๓. ความจงรักภักดีต่อสามีเป็นคุณสมบัติที่ดีของภรรยาที่ควรยึดถือปฏิบัติ
๔. บุรุษหรือสตรีย่อมมีความกล้าหาญเหมือนกัน
๕. ความกล้าหาญและความเสียสละเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง
๑๒. ความรู้เสริม
๑๒.๑ นอกจากความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ความเสียสละเพื่อส่วนรวม คุณธรรมสำคัญของพระสุริโยทัยที่มุ่งเน้นความกตัญญู ตัดสินพระทัยสละพระชนม์ชีพเพื่อพระสวามี คนไทยแต่โบราณสอนให้สตรีเคารพ ซื่อสัตย์และกตัญญูต่อพระสวามี เพราะสามีเป็นผู้เลี้ยงดูปกป้องคุ้มครองให้มีความสุขและความมั่นคงในชีวิต นับเป็นการแสดงกตเวทีต่อพระสวามีตามหน้าที่ของภรรยาที่ดี
๑๒.๒ ความกตัญญูอีกประการหนึ่งเป็นการแสดงความทดแทนคุณพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายถึงการขาดแผ่นดินที่จะให้ดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ การปกป้องสมเด็จพระมหาจักรพรรดิคือการปกป้องรักษาพระมหากษัตริย์ให้ทรงได้ครองราชย์ต่อไปเพื่อความสงบสุขของแผ่นดิน
๑๒.๓ บุคคลและสถานที่ที่ควรทราบ
ก. สมเด็จพระสุริโยทัย ทรงเป็นเอกอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๑๕ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงสละพระชนม์ชีพป้องกันพระสวามีในสงครามระหว่างไทยกับพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑
ข. เจดีย์ ศรีสุริโยทัยอยู่ที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ค. บุเรงนองคือ กษัตริย์พม่าที่มีชื่อเสียงในการรบมีพระนามเรียกเป็นอย่างอื่นอีกได้แก่ พระเจ้าแปรและขุนมอญ
๑๒.๔ ลักษณะของคำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ
โคลงสี่สุภาพบทหนึ่งมี ๔ บาท บาทหนึ่งมี ๒ วรรค วรรคหน้ามี ๕ คำ
วรรคหลังมี ๒ คำ ยกเว้น บาทที่สี่วรรคหลังมี ๔ คำ รวมทั้งหมดมี ๓๐ คำ
ลักษณะบังคับของโคลงสี่สุภาพนอกจากมีจำนวนคำและสัมผัสแล้ว โคลงสี่สุภาพยังมีข้อบังคับพิเศษคือ กำหนดคำเอกและคำโทกับคำสร้อยท้ายวรรคอีกด้วย ดังแผนผัง
คำเอก มีหลักสังเกตดังนี้
ก คำทุกคำที่ใช้รูปวรรณยุกต์เอก
ข คำตายใช้แทนคำเอกได้
ค คำเอกโทษ คือคำที่ตามปกติเขียนรูปวรรณยุกต์โท แต่มาแปลงรูป
เป็นเอก เช่น ไข้ - ไค่
คำโท มีหลักสังเกต คือ
ก คำทุกคำที่ใช้รูปวรรณยุกต์โท
ข คำโทโทษ คือ คำที่ตามปกติเขียนด้วยรูปวรรณยุกต์เอก แต่มาแปลง
รูปเป็นโท เช่น เล่น - เหล้น ช่วย - ฉ้วย
คำสร้อย มีหลักสังเกต คือ
ก จะใช้เฉพาะท้ายบาทที่ ๑ และ ๓ เท่านั้น
ข สร้อยใช้เพื่อเติมความให้คำข้างหน้าบริบูรณ์ เช่น
จอมรา - มัญเฮย สามสิบ - หมื่นแฮ
อุป - ราชแฮ
ค ใช้เติมท้ายบทเพื่อความไพเราะและเสริมความรู้ให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นเช่น
พิสมัย ท่านนา, โรมรัน กันเฮย, ศพสู่ นครแฮ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น