เรื่อง โคลงสุภาษิตพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โคลงสุภาษิต พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้แต่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประวัติผู้แต่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕ ) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ มีพระนามเดิมว่าพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระองค์ได้เสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ และทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญต่อประเทศชาติเป็นเอนกประการ พระองค์จึงเป็นที่รักของอาณาประชาราษฎร์ปวงชนทั้งหลายจึงพร้อมใจกันถวายพระสมญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึงแปลว่า พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รัก พระองค์สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระปรีชาสามารถในการประพันธ์งานพระราชนิพนธ์มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง อาทิ ไกลบ้าน กาพย์เห่เรือ พระราชวิจารณ์ต่างๆ ลิลิตนิทราชาคริต บทละครเรื่องเงาะป่า พระราชหัตถเลขา พระราชพิธีสิบสองเดือน โคลงอธิบายภาพรามเกียรติ์ โคลงสุภาษิต รวม ๑๑ เรื่อง คือ
เรื่องที่ ๑ สุภาษิตบางปะอิน (พ.ศ. ๒๔๒๐)
เรื่องที่ ๒ โคลงกระทู้สุภาษิต (พ.ศ. ๒๔๒๐)
เรื่องที่ ๓ สุภาษิตเบ็ดเตล็ด (พ.ศ. ๒๔๒๐)
เรื่องที่ ๔ สุภาษิตสอนผู้เป็นข้าราชการ (พ.ศ. ๒๔๒๒)
เรื่องที่ ๕ สุภาษิตโสฬสไตรยางค์ (พ.ศ. ๒๔๒๓)
เรื่องที่ ๖ สุภาษิตนฤทุมนาการ (พ.ศ. ๒๔๒๓)
เรื่องที่ ๗ โคลงว่าด้วยความสุข (พ.ศ. ๒๔๓๑)
เรื่องที่ ๘ วชิรญาณสุภาษิต (พ.ศ. ๒๔๓๒)
เรื่องที่ ๙ พระราชปรารถความสุขทุกข์ (พ.ศ. ๒๔๓๖)
เรื่องที่ ๑๐ สุภาษิตพิพิธธรรม (ไม่แน่ชัดว่าพระราชนิพนธ์เมื่อใด)
เรื่องที่ ๑๑ สุภาษิตอิศปปกรณำ (ก่อน พ.ศ. ๒๔๔๗)
โคลงบทที่นำมาให้นักเรียนศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ คือ โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ และโคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ
โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์
ลักษณะการแต่ง โคลงสี่สุภาพ
โคลงสี่สุภาพบังคับคณะ สัมผัส เอกโท
คณะ ได้แก่ จำนวนคำในวรรค บาท และบท โดย ๑ บท มี ๔ บาท ๑ บาทมี ๒ วรรค วรรคหน้า ๕ คำ วรรคหลัง ๒ คำ ยกเว้นวรรคสุดท้ายมี ๔ คำ
หมายเหตุ บาทที่ ๑ – ๓ มีบาทละ ๗ คำ วรรคหน้า ๕ คำ วรรคหลัง ๒ คำ บาทที่ ๔ มี ๙ คำ วรรคหน้า ๕ คำ วรรคหลัง ๔ คำ
สัมผัส ๑ บท มี ๓ แห่ง
เอกโท มีคำเอก ๗ แห่ง คำโท ๔ แห่ง
หมายเหตุ คำเอก คำที่มีรูปวรรณยุกต์เอกกำกับ คำตายใช้แทนคำเอกได้ เช่น น่า ว่า ทั่ว เป็นต้น
คำโท คือ คำที่มีรูปวรรณยุกต์โทกำกับ เช่น หล้า ให้ ได้ อ้า เป็นต้น
คำเอกโทษ คือ การใช้คำเอกแทนคำโท เช่น ค่า ค่อ เค่า (ปกติคือ คำ ข้า ข้อ เข้า) เป็นต้น
คำโทโทษ คือ การใช้คำโทแทนคำเอก เช่น เหล้น เหยี้ยง (ปกติคือคำ เล่น เยี่ยง) เป็นต้น
แผนผังโคลงสี่สุภาพ
ที่มา เดิมเป็นสุภาษิตภาษาอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กวีในราชสำนักแปลและประพันธ์เป็นโคลงภาษาไทย แก้ไขให้ถูกต้องตามความในภาษาอังกฤษ
จุดมุ่งหมายในการแต่ง แนะนำสิ่งที่ควรปฏิบัติและสิ่งที่ควรละเว้น ๑๖ หมวด หมวดละ ๓ ข้อ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีความเจริญในชีวิต
สาระสำคัญของเรื่อง มีบทนำ ๑ บท เนื้อเรื่อง ๑๖ บท และบทสรุป ๑ บท ซึ่งบอกจำนวนสุภาษิตว่ามี ๑๖ หมวด หมวดละ ๓ ข้อ รวมเป็น ๔๘ ข้อ ดังนี้
๑.สามสิ่งควรรัก คือ ความกล้า ความสุภาพ ความรักใคร่
๒.สามสิ่งควรชม คือ อำนาจปัญญา เกียรติยศ มารยาทดี
๓.สามสิ่งควรเกลียด คือ ความดุร้าย ความหยิ่งกำเริบ ความอกตัญญู
๔.สามสิ่งควรรังเกียจติเตียน คือ ชั่วเลวทราม มารยา ริษยา
๕.สามสิ่งควรควรเคารพ คือ ศาสนา ยุติธรรม สละประโยชน์ตนเอง
๖.สามสิ่งควรยินดี คือ งาม ตรงตรง ไทยแก่ตน
๗.สามสิ่งควรปรารถนา คือ ความสุขสบาย มิตรสหายที่ดี ใจสบายปรุโปร่ง
๘.สามสิ่งควรอ้อนวอนขอ คือ ความเชื่อถือ ความสงบ ใจบริสุทธิ์
๙.สามสิ่งควรนับถือ คือ ปัญญา ฉลาด มั่นคง
๑๐.สามสิ่งควรชอบ คือ ใจอารีสุจริต ใจดี ความสนุกเบิกบานพร้อมเพรียง
๑๑.สามสิ่งควรสงสัย คือ ยอ หน้าเนื้อใจเสือ พลันรักพลัดจืด
๑๒.สามสิ่งควรละ คือ เกียจคร้าน วาจาฟั่นเฝือ หยอกหยาบและแสลงฤาขัดคอ
๑๓.สามสิ่งควรกระทำให้มี คือ หนังสือดี เพื่อนดี ใจดี
๑๔.สามสิ่งควรหวงแหนหรือต่อสู้เพื่อรักษา คือ ชื่อเสียงยศศักดิ์ บ้านเมืองของตน มิตรสหาย
๑๕.สามสิ่งควรครองไว้ คือ กริยาที่เป็นในใจ มักง่าย วาจา
๑๖.สามสิ่งควรเตรียมเผื่อ คือ อนิจจัง ชรา มรณะ
ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง ผู้ที่นำสาระสำคัญของโคลงเรื่องนี้ไปปฏิบัติย่อมนำความสุข ความเป็นสิริมงคล ความเจริญใจมาสู่ตนเอง เกิดความเจริญในชีวิต เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของตนเองและต่อสังคมส่วนรวม
โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ
ลักษณะการแต่ง โคลงสี่ภาพ
จุดมุ่งหมายในการแต่ง เพื่อเป็นข้อเตือนใจถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติตามและทำให้บุคคลนั้นไม่เสียใจ
สาระสำคัญของเรื่อง มีบทนำ ๑ บท เนื้อเรื่อง ๑๐ บท และบทสรุป ๑ บท บทนำกล่าวว่าผู้รู้หรือนักปราชญ์ให้ไตร่ตรองแล้วปฏิบัติตามคำสอน ซึ่งเป็นแนวทางที่ควรประพฤติ ๑๐ ประการ หรือกิจ ๑๐ ประการที่ผู้ประพฤติจะไม่ทำให้เสียใจ ตามด้วยโคลงอีก ๑๐ บท กล่าวถึงแนวทางที่ควรปฏิบัติตามลำดับดังนี้
บทที่ ๑ ให้ความดีกับบุคคลทั่วไปไม่เลือกบุคคล
บทที่ ๒ ไม่กล่าวว่าร้ายผู้อื่น
บทที่ ๓ ฟังความแล้วพิจารณาก่อนตัดสินใจ
บทที่ ๔ ควรคิดก่อนพูด
บทที่ ๕ งดการพูดในเวลาโกรธ
บทที่ ๖ ควรกรุณาต่อผู้อบจน
บทที่ ๗ ขอโทษเมื่อทำผิดพลาด
บทที่ ๘ ควรมีความอดกลั้นต่อผู้อื่น
บทที่ ๙ อย่างฟังคนพูดนินทาหรือคำพูดที่ไร้สาระ
บทที่ ๑๐ อย่าหลงชื่อข่าวร้ายหรือข่าวที่ยังไม่เป็นความจริง
บทสุดท้าย กล่าวสรุปว่าบุคคลที่ปฏิบัติตามกิจทั้ง ๑๐ ประการแล้วจะทำให้เสียใจ มีแต่จะนำผลดีต่อผู้ปฏิบัติให้เป็นที่น่าดีใจ น่าพอใจ ถ้าทำไม่ได้ทั้งหมดก็ควรพยายามตัด ระงับ พยายามดับ เพื่อจะทำให้เกิดความสงบได้บ้าง ดีกว่าไม่ปฏิบัติเลย
ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง
๑.ข้อคิด ข้อเตือนใจเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันให้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง
๒.บุคคลใดที่ละเว้นกิจ ๑๐ ประการได้ ย่อมทำให้จิตใจเป็นสุข อันเป็นความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ ทำให้จิตใจสงบ ไม่คิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่ทำให้เสียใจ
โคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ
ลักษณะการแต่ง ร้อยแก้วและสรุปด้วยโคลงสี่สุภาพ
ที่มา แปลมาจากนิทานกรีกฉบับภาษาอังกฤษ
จุดมุ่งหมายในการแต่ง เป็นคติสอนใจเพื่อเลือกเป็นแนวทางแก่ผู้อ่านให้เลือกปฏิบัติตามคำสอนจากนิทานในแต่ละเรื่อง
สาระสำคัญของเรื่อง
เรื่องที่ ๑ ราชสีห์กับหนู สรุปคติสอนใจว่า อย่าประมาทผู้ที่ด้อยกว่าเพราะบางครั้งเราอาจต้องขอความช่วยเหลือจากเขา
เรื่องที่ ๒ บิดากับบุตรทั้งหลาย สรุปคติสอนใจว่า ให้รักสามัคคีกันแล้วจะไม่มีอันตรายใด ๆ มาเบียดเบียนได้
เรื่องที่ ๓ สุนัขป่ากับลูกแกะ สรุปคติสอนใจว่า อย่าคาดหวังจะได้รับความเห็นใจจากคนชั่ว
เรื่องที่ ๔ กระต่ายกับเต่า สรุปคติสอนใจว่า อย่าประมาทเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป เพราะอาจเพลี่ยงพล้ำให้ได้รับความอับอายได้
ข้อคิดที่จากเรื่อง
๑.นิทานเป็นเรื่องเล่าที่มีคติสอนใจ สามารถเลือกใช้และนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้
๒.สะท้อนให้เห็นปรัชญา แนวความคิด คุณธรรม การแก้ปัญหาต่างๆ เป็นแบบอย่างที่ดี สามารถทำให้คนที่ปฏิบัติตามเกิดความสงบ ความสุข ต่อตนเองและสังคมได้
ความรู้ประกอบ
สุภาษิต หมายถึง ถ้อยคำที่กล่าวสั่งสอน เช่น ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เป็นต้น
นฤทุมนาการ หมายถึง สภาพที่ปราศจากความเสียใจหรือสภาพที่ไม่ทำให้เสียใจ เป็นคำสมาสที่มีการสนธิระหว่างคำว่า นฤทุมน+อาการ แยกได้เป็น นฤ+ทุมน(ทุ+มน) “นฤ” เป็นอุปสรรค แปลว่า ไม่ ปราศจาก “ทุ” เป็นอุปสรรค แปลว่า ไม่ดี เสีย “มน” แปลว่า ใจ “อาการ” แปลว่า สภาพ กิริยา
โสพัสไตรยางค์ “โสฬส” แปลว่า สิบหก “ไตรยางค์” แปลว่า องค์สาม สุภาษิตนี้จำแนกเนื้อความเป็น ๑๖ หมวด หมวดละ ๓ ข้อ รวมเป็น ๔๘ ข้อ
โคลงโสฬสไตรยางค์เดิมเป็นสุภาษิตภาษาอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กวีในราชสำนักแปลและประพันธ์เป็นโคลงภาษาไทย กรมหมื่นพิชิต (ต่อมาคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร) จึงได้ทรงนิพนธ์โคลงโสฬสไตรยางค์และทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปแต่งแก้ใหม่ให้ถูกต้องกับความในภาษาอังกฤษ ต่อมาได้รวบรวมลงพิมพ์ในหนังสือวชิญาณ เล่ม ๑
ฉบับที่ ๑ จุลศักราช ๑๒๔๖ (พ.ศ. ๒๔๒๗)
อิศปหรืออีสป (Aesop) เป็นชื่อนักเล่านิทานชาวกรีกมีชีวิตอยู่อยู่ในราวศตวรรษที่ ๖ ก่อนคริสตกาล อีสปเป็นทาสที่มีร่างกายพิการแต่เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มักยกนิทานขึ้นมาเล่าเพื่อเปรียบเปรยให้ข้อคิดหรือคติเตือนใจ แก้ไขเหตุการณ์หรือปัญญาที่เลวร้ายผ่านพ้นไปได้ด้วยดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลนิทานอีสปไว้ ๒๔ เรื่อง และทรงพระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิตประกอบนิทานร่วมกับกวีอีก ๓ ท่าน คือ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระยาศรีสุนทรโวหาร และพระยาราชสัมภารากร
อิศปปกรณำ อ่านว่า อิด-สะ-ปะ-ปะ-ระ-นำ อิศปปกรณำ สะกดอย่างปัจจุบัน คืออีสปปกรณัม คำว่า “ปกรณัม” แปลว่า คัมภีร์ ตำรา หนังสือ หรือเรื่อง ในที่นี้หมายถึง เรื่องนิทานอีสปปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในต้นฉบับสมุดไทยชื่อ อิศปปกรณำ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ
https://sites.google.com/a/bodin3.ac.th/krurakket/kholng-suphasit-phra-rach-niphnth-phrabath-smdec-phra-culcxmkela-cea-xyu-haw
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น